เจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” ของรัชกาลที่ 5

เจ้าหญิงล้านนา “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา”
เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา
พระองค์มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า "เจ้าน้อย" และในพระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เวลา ๐๐.๓๐ น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร มีพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรหนึ่งพระองค์คือเจ้าจันทรโสภา
ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายในราชวงศ์จักรีเป็นกรณีพิเศษ
คล้อยหลัง ๓ ปี ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘) ในปี ๒๔๒๙ นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา
ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ
ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี ๒๔๕๑ ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ "พระราชชายา" และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายแห่งพระราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง "พระอัครชายาเธอ" เลยทีเดียว ดังปรากฏความตามสำเนาพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจน
ในที่สุดเจ้าดารารัศมี ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นเป็น "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี"
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า "เสด็จเจ้าน้อย" เป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง ๓ ปี ๔ เดือน ๑๘ วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕
การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์ แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่พระบรมราชสวามีประทับร่วมอยู่กับพระองค์และพระราชธิดาเสียจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์ จากพระบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" เป็นพระมเหสีลำดับที่ ๕ ในเวลานั้น (ลำดับที่ ๑-๔ มีรายพระนามดังนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ไม่นับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกและพระมเหสีทั้ง ๒ พระองค์ที่สวรรคตและ สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว)
หลังจากเสด็จนิวัติพระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิต อย่างสำราญพระทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบรมราชสวามีได้เพียง ๑๐ เดือน ก็ต้องทรงประสบกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ
นับแต่สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จออกเดินทางเมื่อ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ และเสด็จพระดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน ได้เข้าประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์เป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี
จนกระทั่ง วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา (เจ้าแก้วนวรัฐประสูติแต่หม่อมเขียวในพระเจ้าอินทวิชยานนท์) จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการและเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา
ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรพระราชชายาฯ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยในการรักษาพระอาการและโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำวัน ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากประเทศอินโดนีเซียเพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด
พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง ๑ สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด ๗ วัน เป็นเกียรติยศ cr.เพจโบราณนานมา